มหาทักษา -อ.วรกุล

โหราศาสตร์ไทยมีภาคหนึ่งที่สำคัญคือ มหาทักษา ซึ่งเป็นต้นวิชาใหญ่หลายวิชา ตลอดจนข้อมูลในมหาทักษาได้ถูกนำไปใช้ในวิชาโหราศาสตร์ไทยทั้งจันทรคติและสุริยคติอย่างกว้างขวาง พวกเรามักจะคุ้นเคยหรือผ่านมหาทักษากันมาแล้ว เนื่องจากมหาทักษาที่เราใช้อยู่เกี่ยวข้องกับระบบธาตุบนโลก ซึ่งกลายมาเป็นสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ทั้งรูปธรรมและนามธรรม จำนวนมากมายเกือบทั้งหมด ดังนั้น ศาสตร์และวิชาจำนวนมากของไทยเรา มักจะใช้มหาทักษากันเป็นพื้นฐาน รวมทั้ง ไสยศาสตร์ ศิลปะศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณี ที่ครอบคลุมเรื่องสีประจำวัน จำนวนนับ วัตถุ นามที่เรียกขาน และอีกหลายสิ่งหลายอย่าง จึงจำเป็นต้องเขียนถึงมหาทักษาบ้าง พอให้ต่อเรื่องไปยังดาวที่ใช้ในดวงชะตาได้

ธาตุและพลังงานที่ส่งจากดวงอาทิตย์นั้น มีหลายสาย สายหนึ่งเข้าสู่ระบบธาตุ (ภพ)ในจักรวาล ส่งผ่านเข้ามาในระบบธาตุ(ภพ)ในชั้นบรรยากาศ แล้วจึงเข้ามาสู่โลก ซึ่งเราอ้างอิงมาใช้ในระบบธาตุดวงชะตาราศีจักร ส่วนอีกสายหนึ่งจะส่งมากระทบกับโลกโดยตรง เป็นระบบธาตุ(ภพ)ในธรณี ซึ่งเป็นต้นตอของมหาทักษา ดังนั้นมหาทักษาจึงไม่ใช่ระบบธาตุในดวงชะตาโดยตรง หากธาตุไม่ว่าจากระบบใดเข้าสู่ดวงชะตา ก็จะถูกนำเข้าสู่กลไกของดวงชะตาเหมือนกันทั้งนั้น ควรทราบว่า ทักษาคู่ธาตุ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของวิชาโหราศาสตร์ใหญ่ที่ เรียกว่า มหาทักษา ซึ่งเดิมเป็นโหราศาสตร์จันทรคติระบบหนึ่งซึ่งตกทอดมาแพร่หลายและได้รับความนิยมทั่วไป มีภูมิปัญญาลึกซึ้ง ปัจจุบันแทบจะหาผู้สืบทอดได้ยากแล้ว การนำทักษาคู่ธาตุมาใช้ในดวงชะตา จึงทำให้เข้าใจผิดกันว่านั่นคือมหาทักษา

การเข้าใจมหาทักษามีประเด็นที่สำคัญประการหนึ่งของระบบ คือ ทิศทางของธาตุที่เข้าสู่โลก เราจะเห็นว่า เมื่อเราดูดวงชะตาราศีจักรนั้น ลัคนาและดาวต่างๆโผล่ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกแล้วโคจรโค้งข้ามศีรษะเราในแถบระวิมรรคไปยังทิศตะวันตกด้านหลังของเรา โลกจะม้วนเอากระแสธาตุจากทิศตะวันออกเข้าทางลัคนามาหมุนวนในดวงชะตา คิดดูก็เหมือนราศีจักรเป็นจานวงกลมที่เอาขอบด้านข้างตั้งขึ้นในแนวดิ่ง แต่ธาตุหยาบที่มาจากดวงอาทิตย์เข้ามาเป็นธาตุในธรณีนั้น เข้าทางทิศตะวันออก ที่เป็นภูมิของจันทร์ก่อนแล้วมุ่งพุ่งไปทางตะวันตกเหมือนกัน แต่เบี่ยงเบนกระแสลงต่ำสู่ทิศใต้ ผ่านภูมิอังคาร พุธ (ใต้สุด) แล้วหมุนเวียนขวา ดังนั้น วงจรธาตุที่เป็นต้นเรื่องของมหาทักษาจึงราวกับเข้าทางทิศตะวันออก หมุนเวียนขวาในแนวระนาบกับพื้นดิน เหมือนจานที่นอนแบนราบกับพื้น

แต่เราต้องอย่าลืมที่เคยบอกแล้วว่า กฎเกณฑ์เหล่านี้เป็นเพียงบัญญัติ(สมมุติ) ที่ใช้เฉพาะวิชา เราไม่อาจนำหลักเกณฑ์ข้อเท็จจริงในศาสตร์แขนงอื่น (เช่น วิทยาศาสตร์) มาชี้ถุกชี้ผิดได้ สมัยก่อน เคยมีบางคนพยายามจะพิสูจน์มหาทักษา โดยอ้างผลทางดาราศาสตร์บ้าง ฟิสิกส์บ้าง แต่หากทราบเรื่องมหาทักษา ก็ยังไม่ถูกอยู่ดีเพราะทิศในวิชานี้ ไม่ใช่ทิศจริงๆทางภูมิศาสตร์ เรื่องทิศของภูมิในทักษาคู่ธาตุ เป็นเพียงเปรียบเทียบจากนามธรรมเท่านั้น การกำหนดทิศอย่างเช่น ทิศเหนือที่เป็นภูมิศุกร์นั้นหมายถึง ที่สูง ส่วนทิศใต้ที่เป็นภูมิพุธหมายถึง ที่ต่ำ เช่น ศุกร์ จึงมักจะหมายถึงน้ำฝน น้ำบริสุทธิ์ รวมถึงเทพเทวดาที่อยู่ในท้องฟ้า ส่วนพุธ มักจะหมายถึง น้ำในห้วยหนองคลองบึง รวมทั้ง มนุษย์ สัตว์ พืชพันธุ์และไม้ล้มลุก ซึ่งเรานำมาใช้ในดวงชะตาบ่อยๆ

ธาตุที่โลกรับจากจักรวาลเข้ามาสู่โลกในดวงราศีจักรนั้นเข้าทางลัคนาทางทิศตะวันออก หมุนวนมาในดวงชะตาในทิศทวนเข็มนาฬิกา ถ้าเรามองไปทางทิศตะวันออก เราจะเห็นธาตุอาทิตย์และดาวต่างๆรวมทั้งลัคนาโผล่ขึ้นขอบฟ้ามาเรื่อยๆ ข้ามศีรษะไปตกเบื้องหลังเราทางทิศตะวันตก แต่ธาตุหยาบที่โลกรับเข้ามาโดยตรงจากดวงอาทิตย์ จะเข้าทางทิศตะวันออก และถูกกลั่นกรองโดยโลก (เหมือนดาวทั่วไปกลั่นกรองธาตุ)ให้ละเอียด ระบบ (ภพ)ของธาตุในส่วนนี้เรียกว่า ธาตุในธรณี เป็นความเปลี่ยนแปลงในโลกเอง การเปลี่ยนแปลงของวงจรธาตุที่ทำให้ละเอียดขึ้นและทำให้ธาตุเปลี่ยนภูมินี้มีหลายขั้นตอน ขั้นตอนจุดเปลี่ยนที่สำคัญในวงจรธาตุนี้คือตำแหน่งเป็นเหมือนจุดร่วมสำคัญซึ่งธาตุมีภูมิธรรมแลกเปลี่ยนกับธาตุละเอียดที่กลั่นกรองมาจากจักรวาลในจักรราศี ก็คือ ขั้นตอนที่เป็นวงจรมหาทักษา (คู่ธาตุ) นี่เอง

ธาตุนามธรรมที่เข้ามาสู่ระบบการเปลี่ยนแปลงของโลกสายนี้ จะเปลี่ยนระดับ (ภูมิ) ไปตามพลังงานธาตุที่ถูกชักนำโดยอิทธิพลของโลกหลายลำดับขั้น แต่จะมีขั้นตอนซึ่งธาตุจะมีสถานะเท่ากับธาตุละเอียดตรงกันกับธาตุจากจักรวาล ซึ่งทำให้แลกเปลี่ยนในดวงชะตาได้ ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญ คือ ทักษาคู่ธาตุ เพราะวงจรธาตุในตำแหน่งนี้ เราอาจจะแปลงภูมิธาตุไปสู่ธาตุในระบบอื่นได้เท่าเทียมกัน เช่น หากเราแปลงพฤหัสในมหาทักษาไปสู่ดวงชะตา หรือธรรมชาติของนามธรรมอื่นในรูปวัตถุ ก็สามารถใช้ธาตุพฤหัสอ่านความหมายได้เลยจนดูเหมือนเป็นธาตุเดียวกัน แต่มีธาตุหลายอย่างที่ผิดแผกจากกัน เช่น ราหู และจันทร์ จึงมักจะแตกต่างกันระหว่างวิชาที่ยึดภูมิธาตุเป็นฐานคนละระดับ ซึ่งทำให้พวกเราบางคนที่ไม่ทราบข้อแตกต่างระหว่างธาตุจากแหล่งต่างๆ อาจจะใช้ผิดหรือเกินเลยไปได้เนื่องจากเข้าใจว่าเป็นธาตุอย่างเดียวกันทั้งหมด ที่ควรระวังมากที่สุดก็คือ ราหู เนื่องจากราหูในแต่ละวิชามักจะแตกต่างกัน

ดังนั้น ทักษาคู่ธาตุจึงเป็นส่วนหนึ่งในมหาทักษา และมหาทักษาก็เป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งของระบบธาตุในธรณีเท่านั้น ยังมีส่วนประกอบคือที่สำคัญอื่นๆอีกมาก โดยเฉพาะวงจรทักษาแบบอื่นๆ ซึ่งกลายเป็นความลับ หรือเคล็ดลับที่ใช้กัน แต่บางครั้ง ลับ เพราะเป็นของปลอมก็มี โดยเฉพาะวงจรธาตุบางอย่างไม่ใช่ธาตุในธรณี แต่ก็มี 8 ภูมิได้ด้วยเช่นกัน ทำให้เข้าใจไปว่าเป็นมหาทักษา ในทักษาคู่ธาตุเองแต่ละช่องนั้นยังมีภูมิธาตุที่สูงต่ำหลายชั้น ดังนั้น ในขณะเดียวกันธาตุในแต่ละช่องจึงอาจจะมีภูมิธาตุที่ไม่เสมอกัน มักจะมีผู้ใช้วงจรมหาทักษา กับ ทักษาคู่ธาตุสับสนกันอยู่เสมอ โดยเฉพาะการกำหนดวาร (วัน)เกิด ที่แนะนำกันให้ใช้ราหูแทนพุธกลางคืน และการนับทักษาถึงอาทิตย์แล้วเข้าตากลางกับไม่เข้าตากลาง ดังนั้น เราจะกลับไปดูข้อกำหนดในวิชามหาทักษาสักหน่อย เพื่อให้รู้ว่ามาจากเหตุผลอะไร

โดยทั่วไป เราทราบว่าทักษามี 8 ภูมิธาตุ คือ ๑ ๒ ๓ ๔ ๗ ๕ ๘ ๖ แล้วก็มีตากลางอีกหนึ่งเป็น 9 ช่อง เรื่องนี้เป็นที่เข้าใจคลาดเคลื่อนทำให้สับสนในการใช้มหาทักษามาก เนื่องจากโลกรับธาตุจากดวงอาทิตย์เข้ามาหมุนเวียน ในกรอบธรรมชาติของจักรวาล จึงไม่มีตากลาง ที่เราเห็นตากลางเป็นเพียงเส้นตัดกันสี่เหลี่ยมเท่านั้นเอง ไม่มีความหมายอะไร แต่ภูมิทักษาที่เราเห็นนั้น มีที่ว่างซึ่งไม่ได้แสดงให้ไว้ระหว่าง ๑ อาทิตย์ กับ ๒ จันทร์ คือโลก (ถือว่ากลม) ซึ่งในกรอบธรรมชาติของโลก เมื่อธาตุเริ่มเข้าสู่โลกแล้วเปลี่ยนภูมิจะเป็น ธรณี (ถือว่าแบน) การเรียงลำดับของธรณี กับ อาทิตย์ และจันทร์ในโหราศาสตร์จันทรคติทั่วไป จะเป็น ธรณี ซึ่งเขาจะไม่เขียนไว้ในทักษา เพราะธรณีไม่ใช่ภูมิธาตุเหมือนช่องอื่น จึงยืมเอาตากลางมาใช้เป็นธรณี ซึ่งจะต้องเข้าใจว่า ธรณีที่กำหนดใช้ตากลางนั้นตำแหน่งของมันไม่ได้สัมพันธ์กับกับธาตุอื่นๆโดยรอบ แต่เกี่ยวกับ ๑ และ ๒ เท่านั้น เพราะกระแสธาตุยังเป็นลำดับเชิงเส้น (เหมือนเช่นราศีจักร) นี่เป็นเหตุให้การนับทักษาจร โดยตามกระแสธาตุเมื่อเข้าสู่ ๑ อาทิตย์ จึงนับเข้าตากลางเพราะเป็น ธรณี เมื่อออกจากธรณี จึงเข้าภูมิจันทร์ต่อไป ธรณีนั้นถือเป็นโลกซึ่งมีธาตุอยู่หลายชนิด ไม่ใช่ธาตุใดธาตุหนึ่ง ดังนั้น เมื่อทักษาตกภูมิกลาง หรือตกธรณี จึงถือว่าภูมิธาตุเป็นกลาง

ต่างจากการพิจารณา ตัวเรา ซึ่งในกรอบดวงชะตาถือเป็น โลก (อยู่บนโลก) ทักษาคู่ธาตุนั้นเป็นคุณสมบัติของตัวเรา เมื่อเราอยู่ตรงกลางจึงยืมตากลางมาใช้ ตัวเราจะสัมพันธ์กับภูมิธาตุทั้ง 8 ของทักษาคู่ธาตุ ดังนั้น ในการใช้ทักษาคู่ธาตุ เพื่อดูธาตุ จึงไม่มีตำแหน่งธรณี เพราะธรณีนั้นอยู่ที่ตัวเราอยู่แล้ว พูดง่ายๆว่า ทักษาเดิมนั้นอ่าน ภูมิธาตุ 8 ธาตุ เป็นคุณสมบัติของเรา รวมทั้งเทวดาเสวยอายุ ก็อยู่ในภูมิ 8 ธาตุนี้ ส่วนทักษาจรอ่านตามกระแสธาตุ เมื่อผ่านอาทิตย์ควรจะเข้าธรณี เหตุที่เมื่อภูมิทักษาเข้าสู่ธรณี ซึ่งถือเป็นภูมิธาตุเป็นกลาง จึงใช้พฤหัสแทนภูมิกลาง เพราะพฤหัสมีธรรมชาติที่เป็นกลางๆ ซึ่งเรามักแทนความยุติธรรม พฤหัสยังจรในอัตราราศีละหนึ่งปีเท่ากับอายุประจำปี และยังเป็นสภาวะธาตุดินที่เป็นวัตถุธาตุส่วนใหญ่ของธรณี (โลก)

หากเราเรียงลำดับธาตุในธรณีตามภูมิทักษาคู่ธาตุให้ครบ แล้วจัดใหม่รูปใหม่ทั้ง 9 ภูมิ ดังนี้

๑…….ธรณี…….๒

๖………………..๓

๘………………..๔

๕……(ธรณี)…..๗

ในผังธาตุนี้ เป็นของสภาวะธาตุ ลำดับ ลม-น้ำ-ไฟ-ดิน เหมือนสภาวะธาตุของราศีในดวงชะตา เพราะได้มาจากแหล่งอันเดียวกันคือกรอบของสุริยจักรวาล เราจะเห็นว่า คู่ธาตุ ๑๗ ๖๔ ๘๓ ๕๒ เล็งยันกันอยู่ คนละฟากของธรณี เรียกแนวแบ่งนี้ว่า แกนธรณี เมื่อถือว่าโลกอยู่กับที่ (โดยข้อเท็จจริงโลกหมุนไป)เมื่อมองจากตัวเราบนโลก ธรณีจะเป็นเหมือนแผ่นแบนที่หันสันข้างมาทางเรา ธาตุทั้งหมดจะควงรอบแกนธรณีในช่วงกลางวันและกลางคืนสลับกัน ธาตุที่เป็นคู่หมุนควงรอบแกนธรณี คือ ๑๒ ๖๓ ๘๔ ๕๗ จึงถือว่าควงซ้อนทับกัน การเข้าทักษาจากวารเกิด มีเพียง 7 วัน ไม่มีราหู เราจึงใช้พุธกลางคืนแทนราหูได้ หาก ๔ อยู่กลางวัน ๘ ก็จะอยู่อีกฟากหนึ่ง กลางคืนพุธก็จะหมุนไปทับตำแหน่งราหู หรือ เราอาจจะแปลได้ว่า จันทร์ก็คืออาทิตย์ภาคกลางคืน ในทำนองเดียวกัน แต่ไม่ได้หมายความว่า กลุ่มธาตุข้างหนึ่งเป็นกลางวัน อีกข้างหนึ่งเป็นกลางคืน ทั้งนี้เพราะโดยทั่วไป ดาวคู่ที่หมุนรอบแกนธรณีจะมีคุณสมบัติบางอย่างคล้ายกัน ซึ่งจะยกเอาไปกล่าวถึงภายหลังในเรื่องของดาวคู่ แต่การใช้พุธกลางคืนแทนราหูนี้ มักใช้ในทางโหราศาสตร์จันทรคติ หากใช้ทางสุริยคติในราศีจักรก็ไม่จำเป็น เพราะเป็นธาตุต่างระบบ ไม่จำเป็นที่ต้องใช้ธาตุราหูจันทรคติซึ่งหมุนรอบแกนธรณีมาเกี่ยวข้องด้วย

ธาตุที่ควงรอบแกนธรณีนี้ เป็นหลักอย่างหนึ่งของทางโหราศาสตร์จันทรคติ ใช้ดูนิสัยใจคอไปจนถึงวัยได้ แต่ก็มีคนลักไก่เอาคุณสมบัติหลายประการของธาตุเหล่านี้มาใช้ในโหราศาสตร์ราศีจักร โดยไม่ได้บอกที่มา และเงื่อนไข ในคราวหน้าจะเอาคุณสมบัติของธาตุบางอย่างที่ได้จากทักษามากล่าวถึงอีกครั้ง