มหาทักษา2 -อ.วรกุล

ในตอนนี้จะเอาเรื่องบางประการในทักษาคู่ธาตุที่เรานำมาใช้ประโยชน์ในดวงชะตามาดูกันต่อ

ตะวันออก

…….…….

เหนือ …………….. ใต้

…….…….

ตะวันตก

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

๑…….ธรณี…….๒

๖………………..๓

๘………………..๔

๕……(ธรณี)…..๗

เมื่อนำวงจรทักษามาสู่ตัวเราซึ่งอยู่บนธรณี ก็จะทำให้เปรียบเทียบได้กับทิศโดยสัมพัทธ์กับตัวเรา เรื่องทิศของภูมิในทักษาคู่ธาตุ เป็นเพียงเปรียบเทียบจากนามธรรมเท่านั้น เช่น คำว่า ทิศเหนือ ที่เป็นภูมิศุกร์นั้นหมายถึง ที่สูง ส่วน ทิศใต้ ที่เป็นภูมิพุธหมายถึง ที่ต่ำ ส่วน ทิศตะวันออก ที่เป็นภูมิจันทร์ หมายถึง จุดเริ่มต้น และ ทิศตะวันตก ที่เป็นภูมิพฤหัสหมายถึง จุดปลายทาง หรือสิ้นสุด ทิศเช่น ศุกร์ จึงมักจะหมายถึงน้ำฝน น้ำบริสุทธิ์ รวมถึงเทพเทวดาที่อยู่ในท้องฟ้า ส่วนพุธ มักจะหมายถึง น้ำในห้วยหนองคลองบึง รวมทั้ง มนุษย์ สัตว์ พืชพันธุ์และไม้ล้มลุกที่อยู่ในที่ต่ำ จันทร์ หมายถึง การเริ่มต้น เด็กๆ ผู้อ่อนเยาว์ พฤหัสหมายถึง ประสบการณ์ ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ เป็นต้น ซึ่งเรานำความหมายมาใช้ในดวงชะตาบ่อยๆ

ทิศของทักษาจึงมีเพียง 4 ทิศเท่านั้น เนื่องจากทิศเหล่านี้มีความหมายทางนามธรรม (ปรัชญา) ดังนั้น ทิศเฉียงต่างๆ เช่น ตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นต้น จึงไม่ใช่เรื่องของทักษา แต่เป็นสิ่งที่เปรียบเทียบเมื่อนำทิศทั้งสี่คือ เหนือใต้ ออก ตก ทางปรัชญามาเทียบเคียงกับทิศทางภูมิศาสตร์ เมื่อเทียบทักษากับทิศในแนวนอนนั่นเอง แต่ในดวงชะตาเทียบทิศทางสุริยาตรเป็นแนวดิ่งกับตัวเรา ดังนั้น การเทียบทิศทางภูมิศาสตร์จึงใช้ไม่ได้ในดวงชะตา เช่น ศุกร์ในดวงชะตาไม่ใช่ทิศเหนือ เป็นต้น ขอให้สังเกตว่า โหราศาสตร์จันทรคติยึดถือจันทร์เป็นตะวันออก แทนที่จะเป็นอาทิตย์ เพราะยึดแนวการโคจรของจันทร์รอบโลกเป็นฐานของวงรอบ

เหตุที่เทียบทิศทางภูมิศาสตร์แล้วใช้ไม่ได้ เพราะทักษาคู่ธาตุตามปกติจะควงรอบแกนธรณี แนวตะวันออก – ตะวันตก เหมือนจานแบนของทักษาเอาทิศเหนือ (๖)ตั้งขึ้น ทำให้ทิศใต้ (๔)อยู่ข้างล่าง (เช่นเดียวกับดวงชะตาราศีจักรที่เอาสันของจานแบนดวงชะตาวงกลมตั้งขึ้นในแนวตะวันออก ตะวันตก เช่นกัน) ทำให้ทิศเหนือ (๖) นั้นเป็นที่สูง และทิศใต้ (๔) คือ ที่ต่ำตามความหมายเดิมได้ ในขณะที่ ภูมิตะวันออก – ตะวันตก ยังคงไม่เปลี่ยนทิศมากนัก และเมื่อเราหันไปทางตะวันออก แนวสุริยาตรหรือระวิมรรค (๑) จะอยู่เยื้องไปทางเหนือของเส้นศุนย์สูตรโดยประมาณ ในขณะที่ แนวตะวันออก ตะวันตกของจันทร์ หรือ ศศิมรรค ก็มีการแกว่ง ไม่ตรงกับแนวแกนธรณีเสียที่เดียวเนื่องจากโลก (ธรณี)มีการแกว่งรอบแกน แต่เราถือว่าแนวแกนโลกนั้นอยู่กับที่ แต่ข้อกำหนดเหล่านี้ไม่ได้เคร่งครัดเรื่องมุมเรื่องทิศอะไรนัก เพราะภูมิทักษาไม่ได้เกิดจากการวัดมุม แต่เกิดจากนามธรรม เพียงแต่ให้ทราบเอาไว้เท่านั้น

นอกจากนั้น ในมหาทักษาของโหราศาสตร์จันทรคติเองยังมีการวางจุดเจ้าชะตา เช่นโหราศาสตร์ระบบอื่นเช่นกัน ดังนั้น การที่มักมีคนนำเอาทิศภูมิศาสตร์ว่าเป็นศรีบ้าง กาลกิณีบ้าง มาวางฮวงจุ้ย ดี-ร้าย แล้วเรียกว่า เป็นชัยภูมิระบบไทย จึงเป็นเรื่องไม่ถูกทั้งสิ้นทั้งในวิชามหาทักษาเองและวิชาชัยภูมิ นี่ดีที่ทิศต่างๆที่ใช้นั้น มีผลน้อยต่อดวงชะตา เนื่องจากการวางทิศ ดี ร้าย นั้น ควรต้องวางจุดเจ้าชะตาจากภูมิทักษาให้ถูกต้องก่อน ไม่ใช่มองจากโลก จุดเจ้าชะตานั้นเทียบได้กับทิศตะวันออก ยิ่งการกำหนดตัวอักษรตั้งชื่ออะไรจากวารเกิดยิ่งไม่ถูกใหญ่ เพราะถ้าสมมุติตัวอักษรวรรคที่ตั้งชื่อมีผลจริงๆ ก็จะต้องกำหนดจากจุดเจ้าชะตา ด้วยเช่นกัน มิฉะนั้น อาจจะนำเอาอักขระกาลกิณีมาตั้งเป็นชื่อโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ รวมทั้งการหันทิศบ้านหรือที่ทำงานอะไรก็อาจจะผิดได้ อาจจะหันเข้ากาลกิณีเข้าเต็มๆ เมื่อคิดจากเจ้าชะตา

เมื่อเราหมุนทักษาคู่ธาตุรอบแกนตะวันออก-ตะวันตก หรือ ศศิมรรค ให้ศุกร์ขึ้นที่สูง แล้วพุธลงสู่ที่ต่ำ เราจะแยกธาตุออกได้เป็น 2 กลุ่ม ทั้งสภาวะธาตุ ลม น้ำ ไฟ ดิน ได้แก่ เรียกว่า ธาตุเบา เป็นกลุ่มธาตุที่ขึ้นสูง และ เรียกว่า ธาตุหนัก เป็นกลุ่มธาตุที่อยู่ต่ำ พวกธาตุเบาจะเป็นธาตุละเอียด เบา มักขึ้นที่สูง หรือมีมวลน้อย ส่วนธาตุหนักจะมีมวลมาก น้ำหนักมาก เช่น ๘ ราหู ธาตุลมเบาหมายถึง ลมหายใจ ช่องว่าง (space)รวมอากาศ ลมที่แรกซึมอยู่ในน้ำ หรือผลไม้ ต้นไม้ ในขณะที่ ๓ อังคาร ธาตุลมหนักจะเป็นลมแรงๆที่พัดไปมา พายุ ทั้งที่เป็นแก๊ส และฟองปฏิกิริยาเคมี ๖ ศุกร์ธาตุน้ำเบา หมายถึงน้ำฝน น้ำค้าง ของเย็น เทวดา นางฟ้า ของบริสุทธิ์ พรหมจารี ศิลปเนื้อแท้ของธรรมชาติ ส่วน ๔ พุธธาตุน้ำหนัก เป็นน้ำที่ผ่านสิ่งอื่นมาแล้ว หมายถึงประสบการณ์ความรู้ที่ถ่ายทอดมาก็ได้ เป็นน้ำในต้นหมากรากไม้ที่ปรุงแต่งมา หนุ่มหรือสาวที่ผ่านประสบการณ์แต่งงาน เป็นน้ำบ่อน้ำท่า หรือน้ำในทะเล ซึ่งอยู่ที่ต่ำซึ่งน้ำไหลไปรวมกัน

อาทิตย์ ธาตุไฟเบา คือเปลวเพลิงที่ลามเลียขึ้นที่สูง หมายถึงยอดคน กษัตริย์ พระราชา ประธาน หรือยอดจุดเด่นก็ได้ ๗ เสาร์ธาตุไฟเบา คือความร้อนระอุ เช่น ความร้อนในพื้นดิน ไฟถ่านร้อนที่เป็นสีแดงไปจนถึงดำ โลหะที่ร้อนลวกมือได้เช่นเตารีด เป็นกำลังทำงานและแรงงานกรรมกร ๒ จันทร์ธาตุดิน เป็นความข้นๆยังไม่แข็งแบบเนยอ่อน มีความเป็นดินอ่อน ดินเหลวที่ไม่ไหล เหมือนเพศหญิงซึ่งทั้งเข้มแข็งคงรูปแต่อ่อนโยนต่อสัมผัส การสร้างสิ่งใหม่หรือตัวอ่อน(ทิศตะวันออก) ส่วน ๕ ธาตุดินหนัก เป็นดินที่แห้งแกร่งไปจนถึงดินเผา ดินแกร่งที่ทำครกดิน เหมือนพื้นฐานที่แน่นหนาสำหรับโครงสร้างรับน้ำหนัก ดินที่ตกตะกอนหรือสิ่งที่ตกตะกอนทางความคิด เช่น กฎ ทฤษฎี วัฒนธรรมประเพณี เราจะเห็นว่า ธาตุเบา และธาตุหนักเหมือนกับเป็นดีกรี หรือความเข้มของสภาวะธาตุ นี่คือภูมิของสภาวะธาตุ นั่นเอง เมื่อเราเอา ธาตุในทักษามาผสมกับดาวอื่น จึงแสดงลักษณะวัตถุและสิ่งต่างๆบนโลกได้มากมาย

เราจะสังเกตว่าสีของดาวที่มักใช้กันเป็นสีประจำวันด้วยก็มาจากทักษาคู่ธาตุนั่นเอง พวกธาตุเบาจะเป็นสีโทนอ่อน ส่วนพวกธาตุหนักจะเป็นสีโทนเข้ม ดาวคู่ธาตุจะเป็นสีกลุ่มเดียวกันแต่ต่างโทน เช่น ๖ ศุกร์สีฟ้าเพราะเป็นสีของท้องฟ้า ที่สูงธาตุเบา ๔ พุธสีเขียวเข้ม มาจากสีของพืชพันธ์ที่อยู่ที่ต่ำคือพื้นโลกทั่วไปเป็นธาตุหนัก ๑ อาทิตย์สีแดงเกิดจากธาตุไฟเบา เช่นแสงอาทิตย์ ๗ เสาร์ สีดำหรือแดงเข้มเกิดจากสีธาตุไฟหนักเช่นเหล็กเผาร้อนแต่มีสีดำอยู่ ๒ จันทร์ สีเหลืองอ่อนเกิดจากสีของธาตุดินเบา หรือดวงจันทร์ ซึ่งเป็นดินที่อยู่สูงในท้องฟ้า ๕ พฤหัส สีเหลืองแก่เข้ม เกิดจากธาตุดินหนักที่อยู่ต่ำเต็มไปด้วยแร่ธาตุ ๘ ราหู สีน้ำตาลหรือ สีทราย ธาตุลมเบาบาง เป็นอากาศที่แทรกอยู่ในวัตถุหรือของละเอียด ๓ อังคาร สีชมพูเข้มธาตุลมหนัก คือ ลมที่พัดไปมาพลังงานสูงคล้ายมีไฟ(สีแดง)แทรกอยู่ภายใน บางตำราบอกว่าราหูเป็นสีเขียวอ่อนๆ ก็มี เพราะเป็นคู่ดาวกับพุธสีเขียวเช้มที่อยู่คนละข้างกับแกนธรณีนั่นเอง

หลักสำคัญของทักษาคู่ธาตุเกิดจากวงจร 2 ชนิดร่วมกัน คือ 1 / วงจรของธาตุที่เราเห็น ได้แก่ ๑ ๒ ๓ ๔ ๗ ๕ ๘ ๖ กับ 2 / วงจรของพลังงานธาตุที่เข้าสู่โลกแล้วหมุนเวียนอยู่ในโลก ธาตุในทักษาเป็นนามธรรมที่หมุนเวียนอยู่ในธรณีนานแล้ว ธรรมดาจึงมีธาตุพื้นฐานอยู่เต็มแต่ละภูมิตามปกติ แต่วงจรพลังงานธาตุนั่นเองที่เป็นตัวทำงานที่สำคัญ (เรียกว่า วงจรตัวเคลื่อน) พลังงานจะหมุนเวียนให้กำลังแก่ธาตุ กระตุ้นให้ธาตุทำงานสลับกันไป

เช่นสมมุติเราเอาทรายสักหน่อยหนึ่งใส่ในแก้วน้ำใสๆ เมื่อเราไม่ได้ไปรบกวนมัน ทรายจะตกตะกอนอยู่ก้นแก้วเห็นได้เป็นชั้นสงบนิ่ง แต่เมื่อเราให้พลังงานเขย่าแก้วน้ำนี้ ทรายจะฟุ้งขึ้นมากินเวลานานระยะหนึ่งกว่าจะสงบนิ่งลงไปใหม่ ธาตุในแต่ละภูมิของแต่ละดวงชะตาก็เช่นกัน ปกติธาตุจะอยู่ในภูมิที่ต่ำกว่าระดับที่เราเห็น เมื่อได้รับพลังงานมากระตุ้นธาตุก็จะเปลี่ยนภูมิขึ้นมาสู่ระดับที่เป็นทักษาคู่ธาตุ ภูมิใดที่ได้รับการกระตุ้นแล้วก็จะมีขั้นตอนการเปลี่ยนแปลง จากเริ่มต้นไปสู่ความสงบอีกครั้ง พลังงานส่วนหนึ่งที่อยู่ในธาตุแต่ละภูมิ (เช่นธาตุวารเกิด) จะยังคงสะสมอยู่ในธาตุ และจะค่อยปลดปล่อยออกไป เป็นวงจรพลังงานปลดปล่อย อีกหลายระลอกราวกับคลื่นที่มองไม่เห็น ทำให้เกิดวงรอบการทำงานของธาตุต่อไปอีกหลายวงรอบ วงรอบที่เกิดจากพลังงานปลดปล่อยนี่เอง ทำให้ธาตุในภูมิฟุ้งขึ้นมาอีกได้เป็นระยะๆเป็นเวลานาน เมื่อได้รับพลังงานใหม่ที่สอดคล้องกับวงรอบเดิม ธาตุก็จะทำงานได้อีกครั้งถึงกับรุนแรง เป็นต้นเหตุที่เรานำมานับวัยตามเทวดาเสวยอายุ และทักษาจรได้ และยังใช้ในโหราศาสตร์ไทยอีกหลายวิชา

วงจรของธาตุในทักษาคู่ธาตุ เป็นลำดับขั้นตอนของธาตุที่ได้รับพลังงาน ซึ่งลำดับได้เป็น 8 ขั้นตอนที่เรามักเรียกว่า ภูมิทักษา ที่เรารู้จักกันดี คือ บริวาร อายุ เดช ศรี มูละ อุตสาหะ มนตรี กาลกิณี นั่นเอง ซึ่งจะทบทวนลักษณะของธาตุที่ได้รับพลังงานมากระตุ้นในแต่ละภูมิ(ขั้นตอน)ได้ดังนี้

บริวาร ธาตุเริ่มก่อตัวก่อรูปอัตตาขึ้นมาจากสภาพเดิมที่เป็นนามธรรมไร้สภาพที่หยุดนิ่งอยู่ เมื่อได้รับพลังงาน ธาตุจึงฟุ้งขึ้นมีสภาพเป็นอณูที่แขวนลอยกระจัดกระจายเปะปะไปทั่ว ความหมายนามธรรมนี้จึงเป็น สิ่งแวดล้อม การแปลความหมายจึงอยู่ที่สิ่งที่เรากำลังพิจารณาอยู่นั่นเอง หากเป็นชีวิตคนเราทั่วไป สิ่งแวดล้อมย่อมหมายถึง บุตร ภรรยา สามี ข้าทาส ลูกจ้าง สัตว์เลี้ยง เสื้อผ้า ห้องนอนที่อยู่อาศัย ข้าวของเครื่องใช้ การก่อร่างสร้างตัว ปฏิสนธิ จิตใจ เงา เครื่องเครา ส่วนประกอบต่างๆ ชั่วคราว

อายุ ธาตุของอัตตาเริ่มจับตัวหนาขึ้น และเรียงต่อกันเป็นสายโซ่ยาวขึ้น คงรูป ไม่ขาดง่าย ความหมายนามธรรมนี้จึงเป็น การจับตัวกันและความดำรงอยู่ยืนยาว หากเทียบกับชีวิตคนเราจึงเป็นความเป็นอยู่ของชีวิตที่ดำรงอยู่และต่อเนื่องมา มีความอุดมสมบูรณ์ หรือครบถ้วนไม่ล้มเหลว ดำเนินไปตามครรลองของชีวิต รวมศูนย์ ความต่อเนื่อง การนับเนื่อง ญาติโกโหติกา ตระกุล บรรพบุรุษ สายเลือด โซ่ เชือก ภาพลายเส้น หนักแน่น เหนียวแน่น ยืดยาว ยาวนาน

เดช ธาตุจะอัดตัวแน่นจนแข็งแกร่งเป็นรูปร่างของอัตตาที่สลายได้ยาก สามารถมีกำลัง หรือกดดันต่อสิ่งอื่น ความหมายคือ ความหนาแน่น เป็นปึกแผ่นแน่นหนา จึงมีความหมายเป็น กำลัง อำนาจ ความอดทน แข็งแกร่ง แข็งแรง แน่น บารมี วาสนา ทะเยอทะยาน ดึงเข้าหาตัว มัด พันธนาการ กฎระเบียบ เข้มงวด สั้นๆ

ศรี คือ ธาตุอัตตาที่ก่อรูปร่างครบถ้วน สำเร็จเสร็จสิ้นสุดท้ายแล้วหยุดนิ่งในสภาพสมบุรณ์ จึงหมายถึง ความสำเร็จบรรลุถึงวัตถุประสงค์ เช่น ความราบรื่น สำเร็จเรียบร้อย จุดสำเร็จ ขั้นตอนสุดท้าย สิ่งสูงสุดที่มุ่งหวัง ความละเอียด รูปที่วาดเสร็จ ส่วนสูงที่สุดของกราฟ ทฤษฎีที่ลงตัว ความลงตัวเหมาะเจาะ ความถี่ เป็นระเบียบ บรรลุธรรม ครบ ง่ายดาย สะดวก ผ่อนคลา นุ่มนวล อ่อนโยน เหลว

มูละ ธาตุอัตตา เริ่มคลายตัวปลดปล่อยพลังงานที่ยึดเหนี่ยวออกมา และขยับสู่ขั้นตอนสลายตัว ความหมายจึงเป็น ฐานที่มั่นคง เคลื่อนออกจากที่ ได้แก่ ร่างกาย(เคลื่อนไหว) กำลังผลักดัน การออกจากพื้นฐานเดิมที่ลงตัว พื้นฐานบ้านเรือนสมบัติที่ตั้งมั่น (อสังหาริมทรัพย์) การเคลื่อนตัวที่เป็นนัยสำคัญ(สังหาริมทรัพย์) การโยกย้ายเปลี่ยนที่อยู่ การขนส่งและเดินทางไกล การผจญภัยของชีวิต ความปรารถนา ความมุ่งหวัง ถอนตัว ส่งต่อ จำหน่าย หนี เคลื่อนที่

อุตสาหะ ธาตุเริ่มสลายออกจากการจับตัวเป็นรูป ต่อสู้เพื่อที่จะคงรูปอัตตาเดิม ความหมายจึงเป็น คลายตัว แรงต้านต่อความสลาย ได้แก่ ความรู้สึกฝืน ตะเกียกตะกาย หาเลี้ยงชีวิต การต่อสู้เพื่อดำรงคงอยู่ ความเพียรต่อสู้อุปสรรค ลำบาก ความอึดอัดคับใจ เสียใจ ผิดหวัง อาลัย เครื่องมือ อุปกรณ์ บริการ การนับ แจกแจง ติดขัด ทำเอง

มนตรี ธาตุอัตตาปลดปล่อยสละพลังงานออกเพื่อธาตุอื่น ธาตุที่เริ่มก่อตัวที่เป็นนามธรรมเริ่มบรรลุเข้าใจสภาพอัตตาที่กำลังสลายลง ความหมายจึงเป็น ความสำนึก เข้าใจและเผื่อแผ่ประสบการณ์ ได้แก่ ความช่วยเหลือ เสียสละเพื่อผู้อื่น เผื่อแผ่ การอุปการะ ค้ำจุน ผ่อนคลาย เครดิต ผู้ช่วย หรือที่ปรึกษา ครู คู่ครอง ความเข้าใจ ประสบการณ์ มั่นใจ การทบทวนสู่อดีต เข้าถึงความจริง น่านับถือ เข้าใจปัญหา ปล่อยออกไป ประวัติศาสตร์ ประเพณี

กาลกิณี ธาตุสลายลงไป ไม่สามารถคงรูปอยู่ได้อีก อณูธาตุกลับกระจัดกระจายไม่เป็นระเบียบ รูปค่อยจางหายไปกลับสู่ความสงบ ความหมายจึงหมายถึง กลับสู่ความสงบ ไร้รูปและความหมาย ได้แก่ ความตาย ความจากไป ความเสื่อมของสังขาร หมดแรง หมดกำลัง เสียรูป สลาย ไม่สำเร็จ ล้มเหลว ความหยาบ ห่าง ตาย ทำลาย ตกตะกอน ยาก อุปสรรค ขาดแคลน

หากเราเอาวัฏจักรทั้ง 8 ภูมิมาแบ่งเป็นสองขั้นตอน ขั้นตอนละ 4 ภูมิ เราจะเป็นได้ว่าเป็นขั้นตอนที่สมนัยกัน 4 คู่ คิอ บริวาร ก่อตัว มูละ สลายตัว อายุ จับตัว อุตสาหะ กระจายออก เดช ดึงแน่นขึ้น มนตรี – คลายปล่อย ศรี หยุดสำเร็จเรียบร้อย กาลกิณี ดับไป กลับไปต่ำสุด เป็นวัฏจักรขาขึ้นและขาลงที่เกิดจากการดูดและคายพลังงานออกนั่นเอง

กระแสพลังงานเองที่กระตุ้นวงจรธาตุทั้ง 8 ขั้นตอนนี้ หากสังเกตดูเราจะเห็นเป็นลูกคลื่นที่สลับขึ้นลง เหมือนคลื่นเล็กๆอยู่ในกระแส ไม่ได้เป็นกระแสที่เรียบราบทีเดียว ทั้งนี้เกิดจาก วงรอบของจันทร์ ทางจันทรคติ มีข้างขึ้นและแรม ทำให้พลังงานที่กระตุ้นธาตุแกว่งกระเพื่อมขึ้นลงเป็นวัฏจักรแทรกซ้อนอยู่ในวงรอบทักษา เราจะสังเกตว่า ภูมิทักษาที่อยู่ติดกัน จะมีลักษณะธรรมชาติอันใดอันหนึ่งตรงข้ามกับภูมิที่อยู่ถัดไปเสมอ อย่างเช่น บริวาร ชั่วคราว อายุ ยาวนาน อายุ- ยาวๆ เดช สั้นๆ เดช แข็งแกร่ง ศรี นุ่มนวล อ่อนโยน ศรี อยู่นิ่ง มูละ เคลื่อนที่ มูละ ผลักดัน อุตสาหะ กระเสือกกระสน อุตสาหะ ทำเอง มนตรี มีผู้ช่วย มนตรี มั่นใจ กาลกิณี หมดกำลังใจ กาลกิณี ดับ สลาย บริวาร ก่อรูป ฯลฯ ลักษณะเช่นนี้ในดวงชะตาราศีจักรก็มี แต่ซับซ้อนกว่า

ข้างต้นนี้เป็นความหมายในทางหลักของวงรอบธาตุที่เกิดจากวงจรเคลื่อนของพลังงาน ยังคงมีความหมายที่เกิดจากหลักอื่นๆอีกมาก ซึ่งเราจะพิจารณาภายหลัง

One Comment

  1. […] ธาตุที่ควงรอบแกนธรณีนี้ เป็นหลักอย่างหนึ่งของทางโหราศาสตร์จันทรคติ ใช้ดูนิสัยใจคอไปจนถึงวัยได้ แต่ก็มีคนลักไก่เอาคุณสมบัติหลายประการของธาตุเหล่านี้มาใช้ในโหราศาสตร์ราศีจักร โดยไม่ได้บอกที่มา และเงื่อนไข ในคราวหน้าจะเอาคุณสมบัติของธาตุบา

Comments are closed.