เกร็ดเล็กๆเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ ของรายการเกมกลยุทธ์

ช่วงนี้มีคนถามผมบ่อยๆ ว่าทราบไหม
ว่ามีคนมาโพสต์โจมตีในหลายๆบอร์ด
ว่าเกมกลยุทธ์ ไป กอป the apprentice มา
แม้กระทั่งในพันทิปก็มี ซึ่งผมก็ตอบไปบ้างถ้าเห็น

ที่จริงผมเองก็ออกแปลกใจเพราะว่าถ้าเป็นปีแรกจะไม่ว่า
แต่นี่ปีที่สอง ก็แหม่งๆอยู่ แต่ก็คิดว่า งั้นน่าจะมาเขียนเล่าไว้
เผื่อบางคนที่สงสัยจะได้มีคำตอบมากขึ้น

เรื่องนี้ในปีแรกก็มีคนเข้าใจผิดบ่อยครับ
น่าจะเป็นเพราะรูปแบบรายการแนวๆนี้ มันก็ไม่ค่อยจะต่างกัน
โดยเฉพาะคนที่ดู the apprentice มาจนติดตา

แต่บางทีอาจไม่เคยดู Super Manager ของฝั่งมาเลเซีย
ของบ้านเราก็ซื้อต่อมาจาก Super Managerของมาเลเซียนี่แหละ
ถ้ามีปัญหากันคงจะมีไปตั้งแต่ เมื่อทำ Super Manager ขึ้นมาแล้ว

เล่ามาถึงนี่แล้วก็ถือโอกาสเล่าเป็นเกร็ดเล็กๆ

คนที่เป็นคีย์แมนสำคัญของรายการนี้ในตอนเริ่มต้น
เท่าที่ผมทราบ ก็คือ คุณอนิศ โอสถานุเคราะห์

เหตุผลหลักๆก็คือ แกกำลังมองหาเรียลลิตี้ที่แตกต่างจากสายบันเทิง อยากได้ที่มันต่าง
หลังจากนั้นแกก็ไปคุยกับ คุณธัชรินทร์ โอสถานุเคราะห์
รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทโอสถสภา จำกัด ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้อง
งานนี้ก็เลยเริ่มลงตัว แล้วก็มาได้ คุณณภัทร ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม
เจ้าของ บริษัท ทูแฮนส์ ซึ่งเคยเป็นผู้อำนวยการสร้างละครเรื่องสี่แผ่นดิน สร้างหนังเรื่องมะหมาสี่ขา
มาเป็นคีย์แมนในการผลิตรายการจริงๆ แล้วก็เลยไปซื้อลิขสิทธิ์โครงรายการของ
รายการ Super Manager ซึ่งผลิตในมาเลเซีย มาใช้
จนเราได้ดูเรียลลิตี้ทีฉีกแนวออกมาอีกหน่อย
นอกจากเรียลลิตี้สายบันเทิงที่เกร่อกันมากๆ

ดูๆแล้วปีนี้ก็เริ่มจะลงตัวนะครับ น่าสนุกทีเดียว

ผมมีงานอดิเรกที่พ้องกับเรื่องเกี่ยวกับเรียลลิตี้ “เป็นพิเศษ”
เพราะชอบเก็บข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นนิสัยจนชิน
มีอะไรใหม่ๆ มีอะไรที่น่าสนใจ ผมก็อยากรู้ว่าเขาคิดยังไงกัน
ไปๆมาๆก็เลยมีงานอดิเรกกับเรียลลิตี้ไปด้วย มันเข้ากันละมัง

โดยส่วนตัวผมชอบเรียลลิตี้ที่ได้วิเคราะห์เป็นพิเศษครับ
เพราะมันทำให้เราขบคิดดี

ก็อยากให้กำลังใจ เพราะรู้ว่ามันไม่ค่อยกำไร
โดยเฉพาะเรียลลิตี้ที่มันไม่ตลาด

สำหรับเรียลลิตี้ส่วนใหญ่ข้อจำกัด คือ ต้นทุนการผลิตกับเงินที่ได้จากการโฆษณาครับ

รายการแบบนี้ ถึงขายแอดได้เต็มก็ยังไม่ได้อะไร
พราะงบในการลงทุนสูงมาก งบประมาณ 30 ล้านบาท

ถ้าเทียบกับราคาขายของโฆษณาทีวี
ปัจจุบัน ลองตั้งอยู่ที่นาทีละ 300,000 บาท (คิดแบบเว่อร์ไว้)
หนึ่งชั่วโมงทางสถานีมีกฎให้ขายโฆษณาได้แค่ราว 8-10 นาที

ซึ่งขายเต็มเวลาหนึ่ง ชม.ได้แค่ 2.4-3 ล้านบาท
ถ้า ชม.ครึ่ง 8 ตอน ก็แค่ 3.6-4.5 ล้าน x 8 ตอน = 28.8-36 ล้าน
(แต่จริงๆเวลาขายพวกนี้มันจะมีสวนลดลงไปอีก ราว 10-30%)

ยกยอดเต็ม 36 ล้าน(อย่าลืมว่าราคานี้เว่อๆ x 30% เข้าไปอีก)
=36 ล้าน – 10.8 ล้าน = 25.2 ล้าน

สรุปว่าหมิ่นเหม่ขาดทุนมากๆ กำไรน้อย
ยกเว้นสปอนเซอร์พยักหน้าเอาด้วย ยอมมาสนับสนุน ถึงจะไปรอด
เพราะถ้าเหลียวมองเรทติ้งเมื่อไหร่ก็ ฝ่ายจัดซื้อสื่อคงเกาหัว..555
มันเฉพาะกลุ่มเหลือเกิน (เพียงแต่ได้กลุ่มเนื้อๆ และที่สุดแล้วผมเชื่อว่ามันคุ้ม)
เพราะมันคือทางเลือกหนึ่ง และเป็นทางเลือกที่ได้ผลแฝงมากกว่าซื้อสปอต

และผมก็เชื่อว่าตลาดเรียลลิตี้ เป็นตลาดคนดูที่กำลังโต
และคนดูก็พร้อมจะบริโภคสื่อแบบเหนียวแน่น ถึงไหนถึงกัน
เพียงแต่ว่าพฤติกรรมคนดูสายเรียลลิตี้อาจจะอ่านยากกว่า มีบุคลิกเฉพาะกว่า
ต่างจากคนดูรายการทีวีที่เคยมีมาแต่เดิม แถมยังมักจะเอาแต่ใจ เสียด้วยสิ

เอาใจช่วยครับ ผมชอบเห็นรายการเรียลลิตี้ดีดี ในบ้านเรา
และอย่างน้อยรายการนี้ ก็สามารถเอามาใช้
เป็นเคสเรียนรู้ในการพัฒนาบุคลากรในสายการตลาดได้