งา​…​ธัญพืชแห่งวัฒนธรรมการดู​แลสุขภาพ

นันทนา ​พิภพลาภอนันต์​ / ​เรียบเรียง   ​กองบรรณาธิการ​ / ​ภาพ

ผู้คนในสังคมไทยรู้จัก “งา” ธัญพืชเมล็ดเล็ก ๆ ที่มีรูปร่างคล้ายหยดน้ำกันเป็นอย่างดี ทั้งในวัฒนธรรมการกินการอยู่ ความเชื่อ พิธีกรรม วิถีชีวิต และภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนไทย”งา” มักถูกใช้เป็นส่วนปรุงแต่งอาหารและขนมหลายชนิด เช่น ถั่วกระจก ถั่วแปบ กระยาสารท หรือแม้แต่ในน้ำจิ้มสุกี้เลิศรส เนื่องจากเมื่อนำมาคั่วแล้วงาจะมีกลิ่นหอมน่ารับประทานตามความเชื่อแล้ว “งา” ยังถูกจัดเป็นอาหารชั้นสูงและศักดิ์สิทธิ์ คนโบราณใช้เป็นส่วนประกอบในพิธีกรรมเพื่อความเป็นศิริมงคล

“งา” ผูกพันในระดับวิถีชีวิตชุมชนของชาวไทยใหญ่ (ชาวไต) จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทั้งในแง่วัฒนธรรมการกินและการรักษาโรค งาเป็นส่วนประกอบของอาหารพื้นเมืองของชาวไทยใหญ่ ซึ่งเป็นอาหารที่ค่อนข้างมันและให้พลังงานสูง แต่ชาวไทยใหญ่ในอดีตไม่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ เพราะใช้น้ำมันงาในการปรุง ทั้งนี้เกิดจากคุณค่าของงาที่ช่วยสร้างเสริมสุขภาพ

“งา” เมล็ดหนึ่ง ๆ จะมีสารอาหารสำคัญมากมาย ไขมันในงามีอยู่มากประมาณ 45 – 57 % เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวและไม่เกิดการเหม็นหืนง่าย โปรตีนมีไม่น้อยกว่า 20 % มีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายอยู่ครบทุกชนิด มีวิตามินบีทุกชนิด (ยกเว้นวิตามินบี 12) มีวิตามินอีสูง ซึ่งมีสรรพคุณทำให้มีความเป็นหนุ่มสาว งายังมีสารเซซามิโอ (sesameo) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ที่มีประสิทธิภาพสูงสามารถป้องกันโรคมะเร็งได้ นอกจากนี้ยังพบเกลือแร่ชนิดต่าง ๆ มากถึง 4.1 – 6.5 % ได้แก่ ธาตุเหล็ก ไอโอดีน สังกะสี แคลเซียมและฟอสฟอรัส”งา” ในตำราแพทย์จีนโบราณจัดเป็นยารสหวาน ฤทธิ์ปานกลาง บำรุงกำลัง ช่วยในการระบาย แก้ท้องผูก รักษาแผลในกระเพาะอาหาร ช่วยถอนพิษ ขับพยาธิตัวกลม หมอพื้นบ้านในชุมชนไทยใหญ่ และชุมชนพม่าจะใช้น้ำมันงาทารักษาโรคปวดข้อ เคล็ดขัดยอก ข้อบวมและข้อเท้าแพลง

“งา” ผ่านการคิดค้นวิธีแปรรูปโดยภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวไทยใหญ่ที่เรียกว่า “อีดงา” หรือการบีบหรือสกัดน้ำมันออกมาจากเมล็ดงามาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ และปัจจุบันยังสืบต่อมาในรูปของ “น้ำมันงา” ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้สารพัดปัจจุบันคนส่วนใหญ่นิยมบริโภค “งา” จากอาหารหลากหลายรูปแบบ เช่น บัวลอยน้ำขิง งาน้ำขิง ซุปงาดำ ครีมงาดำ ขนมปังโฮลวีทผสมงา คุกกี้งา ฯลฯ จึงดูเหมือนว่า “งา” กำลังก้าวไปสู่เมล็ดธัญพืชแห่งวัฒนธรรมการดูแลสุขภาพของสังคมไทยอย่างแท้จริงในอนาคตอันใกล้กว่าจะเป็นน้ำมันงา การผลิตน้ำมันงา เน้นความเป็นธรรมชาติจริง ๆ ตั้งแต่การปลูกงาโดยวิธีธรรมชาติ ปลอดสารพิษต่าง ๆ ตลอดไปถึงกรรมวิธีการผลิต หากเป็นน้ำมันงาตามโรงงาน บางแห่งก็ใช้ด่าง ใช้สารกันหืน หรือใส่สารฟอกสี แต่ในชุมชนไม่ใช้สารปรุงแต่ง เพื่อให้เมล็ดงาเล็ก ๆ นี้คงคุณประโยชน์ที่มีอยู่มากมายไว้ แม้แต่เรื่องของการเลือกงา

งาขาวได้รับความนิยมนำมาผลิตเป็นน้ำมัน เพราะมีกลิ่นหอม รสชาติดี เหมาะกับการปรุงอาหาร ส่วนงาดำนั้นใช้ทำยามีรสออกขมนิด ๆ แต่พบว่างาดำมีคุณค่าทางอาหารสูงกว่า จึงใช้งาดำเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตกรรมวิธีในการทำน้ำมันงาเป็นแบบพื้นบ้านทั้งหมด โดยนำเมล็ดงามาผึ่งแดดให้แห้งมากที่สุด คัดเมล็ด ทำความสะอาดก่อนจะนำมาแปรรูป โดยใช้ครกไม้ที่ประดิษฐ์ขึ้นเอง มีหลุมครกไม้ฝังลงในดินให้มีความหนาแน่นมั่นคง มีไม้สากอยู่ในครกและเชื่อมต่อคานยาวไว้สำหรับเทียมวัว เพื่อให้เดินหมุนลากและบดน้ำมันงาขั้นตอนการอีดงา นำเมล็ดงามา “อุ่นแดด” คือตากแดดอีก 1 แดดก่อนนำไป “อีด” ใส่เมล็ดงาประมาณ 15 กิโลกรัมลงในครกอีด ราวครึ่งชั่วโมงงาจะเริ่มแตก จึงค่อยเติมน้ำร้อนลงไปเรื่อย ๆ ปริมาณน้ำต้มที่ใช้ประมาณ 3 – 4 กระป๋องนม อีดจนกากงาแยกจากน้ำมัน ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง เปิดช่องให้น้ำมันไหลลงภาชนะรองรับ (กากงาดำนำไปผสมกับหญ้าให้วัวกิน) กรองเอากากออก พักไว้ 1 คืน เทลงถังพักตะกอนถังที่ 2 เป็นเวลา 10 วัน เทน้ำมันจากถังที่ 2 พักไว้ในถังที่ 3 อีก 20 วัน หลังจากนั้นจึงบรรจุลงขวด เพื่อจำหน่ายต่อไปเคล็ด(ไม่)ลับกับน้ำมันงา

  • ใช้น้ำมันงาประกอบอาหารรับประทานเป็นประจำ จะช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดแข็งตัว หลอดเลือดหัวใจตีบตัน และอาการท้องผูก
  • น้ำมันงา ใช้ลดการหมักหมมในช่องท้อง โดยทานน้ำมันงาดิบ ๆ 1 ถึง 2 ช้อนโต๊ะ ขณะท้องว่าง เพื่อให้ลำไส้ขับสิ่งที่หมักหมมอยู่ออกไป
  • น้ำมันงา ใช้ทาผมจะทำให้ผมดำเป็นมันวาว ไม่แห้งแตกปลาย และใช้ทาผิว เพื่อให้ความชุ่มชื้น ลดรอยหยาบกร้าน ช่วยให้ผิวพรรณผุดผ่อง
  • น้ำมันงาใส่ขิง ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อย โดยใช้ขิงสดขูดละเอียดผสมกับน้ำมันงาในปริมาณเท่ากัน จุ่มผ้าฝ้ายลงในส่วนผสมนี้ นำมาถูนวดบริเวณที่ปวดเมื่อย
  •  ใช้กระเทียมสับผสมน้ำมันงา รักษาโรคผิวหนังอย่างกลาก เกลื้อน เรื้อนกวาง ทาบริเวณที่มีอาการ
  • น้ำมันงาผสมน้ำปูนใส ช่วยบรรเทาอาการปวดแสบปวดร้อนจากน้ำร้อนลวกได้เป็นอย่างดี ใช้น้ำมันงา 1 ส่วน น้ำปูนใส 1 ส่วน ตีให้เข้ากันจนเป็นครีมขาว เอาผ้าขาวบางที่สะอาดจุ่มแล้วแปะไว้บริเวณที่เป็นแผล
  • แก้ปัญหาผมร่วง ใช้น้ำมันงาเคี่ยว ทิ้งไว้ให้เย็น แล้วนำมาทาบริเวณที่ผมร่วง วันละหลาย ๆ ครั้ง จนกระทั่งผมเริ่มขึ้น
  • น้ำมันงา ใช้นวดบรรเทาอาการช้ำบวม ให้ทาน้ำมันงาแล้วนวดเบา ๆ รอบ ๆ บริเวณ จะทำให้ตรงที่ช้ำบวมหายเร็วขึ้น
  • เป็นหวัด แพ้อากาศ ให้รับประทานงาเป็นประจำ (ทานช่วงเช้า ประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ) จะทำให้หายใจโล่ง อาการดีขึ้น
  • ฤทธิ์ระบายท้องของงา ช่วยลดอาการอักเสบของหัวริดสีดวง ช่วยห้ามเลือดจากหัวริดสีดวง และน้ำมันงายังใช้ทาหัวริดสีดวง แก้ริดสีดวงอักเสบได้ด้วย

แหล่งข้อมูล : เฉลียว ปิยะชน. อายุรเวช วิถีสู่สุขภาพตามธรรมชาติ. กรุงเทพฯ : บริษัทพิมพ์ดี จำกัด, 2539. พัชรี กวนใจ. “น้ำมันงา ภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวไต” ใน หมู่บ้านไท. ปีที่ 1 ฉบับที่ 6 เดือนสิงหาคม 2543. (หน้า20-22) หยาดฝน. ” ‘อีดงา’ การสกัดน้ำมันงาแบบพื้นบ้าน” ใน กรีนเนท. ปีที่ 3 ฉบับที่ 9 เดือนตุลาคม 2543. (หน้า7-9) http://www.school.net.th/library/snet4/june22/sesame.htm 26/1/2546