ไฟไหม้กับการเอาตัวรอด

FACT เกี่ยวกับไฟไหม้ ที่ควรรู้ หลังกรณีไฟไหม้ที่ซานติก้าผับ

ไฟไหม้กับการเอาตัวรอด

+ ข้อมูลที่ควรรู้ในการเอาตัวรอดจากเหตุไฟไหม้ +

เพื่อนๆทราบหรือไม่? ครับ

ถ้าปล่อยให้ไฟลุกไหม้ในที่ราบ 4 นาที ไฟจะแพร่กระจายได้ถึง 1,100% ของพื้นที่

เวลาที่เกิดไฟไหม้ มันจะมืดจนเรามองไม่เห็นอะไรเลย เพราะสายตาของเรา ไม่สามารถทะลุผ่านกลุ่มควันไปได้

ถ้าไฟไหม้บนตึก อัตราการขยายตัวของไฟจะเร็วถึง 100 กิโลเมตร/ชั่วโมงเลยทีเดียว

มาทำความรู้จักกับไฟกันก่อนดีกว่า
ว่าองค์ประกอบของการติดไฟ มีอะไรบ้าง?

การที่ไฟจะติดได้ มีองค์ประกอบอยู่ 4 อย่าง คือ

1. ออกซิเจน
ต้องมีมากกว่า 16 % ลองนึกถึงการทดลองตอนเราเรียนชั้นประถม ที่จุดเทียนไขไว้แล้วคุณครูให้เอาแก้วมาครอบ เราจะพบว่าทิ้งไว้ซักพักเทียนก็จะดับ การที่เทียนดับนั้นไม่ได้หมายความว่าก๊าซออกซิเจนในแก้วถูกใช้สันดาปไปหมด แต่ที่มันดับก็เพราะว่าเหลือออกซิเจนอยู่ในแก้วไม่ถึง 16% นั่นเอง

2. เชื้อเพลิง

เชื้อเพลิงมีหลายสถานะ ทั้งที่เป็น ของแข็ง ของเหลวและก๊าซ แต่เชื้อเพลิงทุกชนิดจะติดไฟที่สภาพเป็นไอ พูดมาถึงตรงนี้อาจจะมีคำถามว่า ว่าถ้างั้นกระดาษที่เป็นของแข็งแล้วอยู่ๆมันจะเป็นไอได้ยังไง

ยกตัวอย่างการทดลองตอนประถมอีกเหมือนกัน ที่คุณครูให้เราใช้แว่นขยายรวมแสงจากดวงอาทิตย์ ไปบนกระดาษ ถ้าพอจำได้เราจะเห็นไอออกจากกระดาษก่อนแล้วไฟถึงจะติดบนกระดาษ นั่นเป็นตัวอย่างที่ดีครับว่าเชื้อเพลิงทุกชนิดจะติดไฟที่สภาพเป็นไอ

3. ความร้อน

ความร้อนที่จะทำให้ติดไฟจะต้องสูงพอจึงจะทำให้เชื้อเพลิงติดไฟได้ ยกตัวอย่างถ้าเราเอาน้ำมันเบนซินไปวางไว้กลางแดด วางยังไงมันก็ไม่ติดไฟหรอกครับ เว้นแต่ว่าถ้าเราให้ความร้อนมันถึง 398 องศาเซลเซียสนั่นแหละมันถึงจะติดไฟ

4. ปฎิกิริยาเคมีลูกโซ่
ปฏิกิริยานี้เองที่จะทำให้ไฟลุกไหม้ต่อไปได้เรื่อยๆ

จะต้องมีองค์ประกอบครบ 4 ข้อนี้ ครบถ้วน ไฟถึงจะติดได้

ประเภทของไฟ

NFTA ของสหรัฐ แบ่งไฟเป็น ประเภท คือ A B C D และ K ครับ

A คือไฟที่ลุกไหม้พวกเสื้อผ้า หญ้า กระดาษ ยางรถยนต์
B คือไฟที่ลุกไหม้เชื้อเพลิง น้ำมัน ก๊าซ
C ไฟจากไฟฟ้าช็อต (ห้ามใช้น้ำดับเป็นอันขาด เดี๋ยวไฟดูดตายกันพอดี)
D ไฟลุกไหม้โลหะที่ติดไฟได้ อันนี้ส่วนใหญ่จะเกิดกับอุตสาหกรรมมากกว่า
K ไฟลุกไหม้พวกอาหาร

แล้วเราจะรู้จักประเภทของไฟไปทำไม?

การที่เรารู้จักประเภทของไฟ ไม่ได้เป็นเรื่องไร้ประโยชน์เลยครับ
เพราะการที่เรารู้จักไฟ เราจะเข้าใจว่าเมื่อต้องผจญเพลิงขึ้นมาจริงๆ เราจะต้องทำอะไร


แล้วถ้าเกิดไฟไหม้ขึ้นมาล่ะจะทำยังไง?
เมื่อไหร่ที่ควรจะหนี และเมื่อไหร่ที่เราจะต่อสู้กับไฟ?

มีหลักการพื้นฐานนิดเดียวครับ

เรามีเวลาเพียง 5 นาทีเท่านั้นในการดับไฟ (อย่าลืมว่าอัตราการลุกลามของไฟมันไวจริงๆ)
ถ้าเราไม่สามารถดับไฟได้ภายใน 5 นาที ให้สันนิษฐานไว้ได้เลยว่าต่อไปจะเกิดเพลิงไหม้ ให้เราเตรียมตัวเผ่นได้เลย อย่าพยายามฝืนต่อ เดี่ยวจะไม่มีเวลาหนี เพราะใน 10 นาทีนับตั้งแต่เกิดไฟไหม้ เพลิงจะทวีความรุนแรงถึง 10 เท่า ในทุกๆ 1 นาที

10 นาทีนี้ถ้าอยู่บนตึก อยู่ในอาคาร บางทียังไม่ทันทำอะไรได้ทันด้วยซ้ำ ถ้าไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไร ไปทางไหน

เพราะฉะนั้นก็ตระหนักด้วยว่าตัวเองอยู่ที่ไหน และมีเวลาพอที่จะโกยได้เร็วที่สุดเท่าไหร่
เก็บข้าวของ หรืออะไรก็ตามก็จะได้รู้ว่ามีเวลาสั้นๆเท่านี้ แล้วรีบเผ่น อย่ามัวเสียดายของที่เหลือเด็ดขาด เพราะตัวเองจะเอาตัวเองไม่รอดครับ

ไฟที่ควรรู้จัก

ในบางกรณีที่มีไฟไหม้เกิดขึ้นในบริเวณหรือห้องที่ปิดมิด
ไฟจะใช้ออกซิเจนในการเผาไหม้จนลดลง และไฟก็เลยดับ(ไม่เห็นเปลวไฟ)
แต่ยังคงมีอุณหภูมิที่สูงเกินจุดติดไฟ เมื่อมีการพังประตูเข้าไป หรือทุบกระจก
จะทำให้อากาศภายนอกที่มีออกซิเจนเพียงพอ ได้ไหลเข้าไปเป็นจำนวนมาก และเร็วมาก
จึงทำให้ไฟลุกไหม้ขึ้นมาอีกครั้งนึง โดยจะเป็นเหมือนการระเบิดออกมาครับ
เท่าที่จำได้เค้าจะเรียกแบบนี้ว่า Backdraft ครับ

วิธีป้องกัน Backdraft

หากต้องเข้าสู่ภายในบริเวณที่มีคนติดอยู่ … ไม่นิยมทำการทุกระจกหรือเปิดประตูแบบทันทีทันใด แต่จะใช้วิธีการ “แง้ม” เพื่อให้เกิดช่องเล็กๆ ก่อน หากเกิด Backdraft แล้วจะได้ไม่รุนแรง เพราะเราไม่สามารถคาดการณ์การเกิดไฟพุ่งในกรณีนี้ได้ …

อ้อ … แล้วขณะที่ทำการ”แง้ม” ช่องที่ว่า ต้องทำตัวให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้นะครับ เพราะเปลวไฟ มันจะไหม้ขึ้นด้านบนเสมอ …

การหนีออกจากบริเวณที่มีแต่ควัน …

ถ้าไฟไหม้ต้องคลานต่ำเพราะควันจะลอยสูง
หรือถ้าเข้าที่อับให้เอาผ้าชุบน้ำปิดจมูกช่วยการหายใจ

ใครจะเชื่อว่า คนที่ประสบเหตุไฟไหม้ น้อยรายที่จะตายโดยไฟคลอก … แต่มักจะสูดควันพิษ จนถึงแก่ความตายก่อน แล้วจึงโดนไฟคลอก … ดังนั้น หากคุณอยู่ในบริเวณที่ไฟไหม้ แต่เปลวไฟยังลามไม่ถึง แต่เริ่มมีควันมาแล้ว … ให้ก้มตัวให้ต่ำที่สุด เท่าที่จะทำได้ … หรือคลานไปเลยได้ยิ่งดี … เนื่องจากคุณสมบัติของควันคือ … จะลอยขึ้นสู่ที่สูงครับ …

และอีกอย่าง … หากว่ามันมืดจนคุณมองไม่เห็น … จะหนียังไง … ก็เอาส่วนส่วนหนึ่งของร่างกายสัมผัสกับผนังตลอดเวลา แล้วเดินเลาะไปเรื่อยๆ … นอกจากจะไม่ทำให้คุณเดินเป็นวงกลมแล้ว ยังช่วยให้คุณรู้ว่า ที่ที่คุณจะไป มันร้อนกว่า หรือเย็นกว่าเดิมจากการสัมผัสครับ

ถ้าหาทางออกไม่ได้ พยายามหาจุดตั้งหลักไว้ก่อน เป็นจุดที่เพลิงลามไปติดช้าสุดเท่าที่ทำได้
หรือห้องน้ำด้านที่ผนังถ้าทุบก็จะออกได้ เข้าไปในห้องน้ำ ปิดประตูกันไฟลามเข้า เอาน้ำในห้องน้ำออกมาราดที่พื้น และให้นำเสื้อไปชุบน้ำมาปิดจมูกไว้เพื่อกันควัน เอาผ้าชุบน้ำไปปิดช่องทางด้านประตูเพื่อกันควันเล็ดรอดเข้ามา หลังจากนั้นตั้งสติ โทรศัพท์บอกพิกัดที่ตัวเองอยู่ให้ภายนอกทราบว่าอยู๋จุดไหน เพื่อที่เขาจะได้วางแผนช่วยเหลือได้ทัน วิธีนี้เป็นทางเลือกสุดท้ายเพราะถ้าช่วยไม่ทันก็อาจเสียชีวิตได้ แต่อย่างน้อยสามารถยืดเวลาที่มีชีวิตอยู่ให้นานที่สุด และเพิ่มโอกาสรอดที่ จนท.ดับเพลิงจะมาช่วยทัน

กรณีที่เกิดเพลิงไหม้ในอาคาร โดยเฉพาะตามคอนโด อพาร์ทเมนท์
มีปรากฎการณ์อีกอย่างของเพลิงไหม้ คือที่เรียกกันว่า Flashover ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมาก

ปรากฎการณ์นี้ จะเกิดขึ้นเมื่อควันไฟ ถูกกักเอาไว้ภายในพื้นที่จำกัด เช่น ในห้อง ที่ไม่มีการระบายอากาศ ควันจะลอยอยู่ติดเพดาน และสะสมหนาขึ้นเรื่อยๆ ถ้าต้นเพลิงยังไม่ดับ และเชื้อไฟยังไม่หมด ในกรณีเช่นนี้ ความร้อนจากเปลวไฟ ก็จะสะสมอยู่ที่ระดับเพดานเช่นกัน (ขึ้นไปตามอากาศร้อนจากไฟ) ถึงจุดจุดหนึ่ง ความร้อนจากไฟ สะสมจนสูงพอที่จะทำให้อนุภาคเขม่าในควันลุกติดไฟขึ้นได้ ก้อนควันทั้งก้อน จะลุกติดไฟขึ้นมาพร้อมกัน เปลวไฟจากกรณีนี้ จะตลบอยู่ในชั้นควัน และท่วมห้องทั้งห้องได้อย่างรวดเร็ว

นี่คือเหตุผลอีกข้อว่าทำไมถึงต้องคลานต่ำให้มากที่สุด และถ้าติดอยู่ในห้องต้องพยายามอุดช่องว่างประวิงเวลาให้ควันเข้ามาน้อยที่สุด

อีกปรากฎการณ์หนึ่งที่เรียกว่า BLEVE (Boiling Liquid Expanding Vapor Explosion) หรือการระเบิดของไอระเหยจากของเหลวที่กำลังเดือด

กรณีเช่นนี้ เกิดจากการที่ของเหลวที่ติดไฟได้ ถูกบรรจุอยู่ในภาชนะปิด ไม่มีออกซิเจน (เช่นถังแกสปิโตรเลียมเหลว LPG) ซึ่งถูกรมด้วยเปลวไฟด้านล่าง
จนของเหลวข้างในเดือด เกิดเป็นไอระเหยอัดสะสมอยู่ในภาชนะ
แรงดันของไอที่ระเหยขึ้นมานี้จะสูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่ง
ที่ภาชนะนั้นทนไม่ได้ เกิดการรั่ว หรือฉีกขาดออก
ไอของเหลวที่อยู่ภายใน พุ่งออกมาทางช่องที่ขาด พอสัมผัสกับออกซิเจน และความร้อนของเปลวไฟที่อยู่โดยรอบ ก็ติดไฟขึ้นมา และเปลวไฟพุ่งย้อนกลับเข้าไปในถัง ทำให้ไอของเหลวทั้งหมดในนั้นลุกติดไฟขึ้นพร้อมกันจนเป็นการระเบิด เมื่อระเบิด ของเหลวที่ยังระเหยไม่หมด ทะลักออกมาเจอกับไฟและออกซิเจนข้างนอก ก็ซ้ำเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง

BLEVE เป็นการระเบิดที่รุนแรงมากครับ.. ส่วนใหญ่ภาชนะบรรจุของเหลวติดไฟจึงต้องมีช่องระบาย เพื่อไม่ให้ก๊าซสะสมจนถึงระดับที่ภาชนะจะแตก
เช่น ถังก๊าซหุงต้มตามบ้าน จะมีจุดอ่อนอยู่ที่วาล์วบนหัวถัง ซึ่งจะแตกออกก่อนที่ถังทั้งใบจะแตก

เพราะงั้น ถ้าเกิดเพลิงไหม้ แล้วเราเห็นว่ามีถังก๊าซอยู่ ก็ต้องฉีดน้ำเลี้ยงให้ถังเย็นไว้ก่อน แล้วรีบลุยน้ำเข้าไปยกมันออกมาซะ ยอมเสี่ยงแล้วรอด ดีกว่ารอความตายที่จะมาถึงครับ

ขอให้ตั้งสติไว้นะครับ คนเราดำรงชีพในความไม่ประมาท ดีที่สุด

หมายเหตุ. ที่มาของข้อมูลจากที่นี่นะครับ อ่านแล้วอยากเผยแพร่ต่อน่ะครับ ปีนี้ดูเหมือนไฟไหม้บ่อยจังครับ
http://topicstock.pantip.com/wahkor/topicstock/2007/08/X5728097/X5728097.html

2 Comments

  1. ผมก็มีประสบการณ์โดนน้ำมันที่ไฟกำลังติดอยู่ราดใส่ ขอบอกว่ามันรวดเร็วมากจริงๆครับ แค่จะถอดกางเกงยังไม่ทันเลย ไฟมันกำลังจะลุกติดที่เสื้อ(ตอนแรกติดเฉพาะที่ขากางเกง) จนต้องล้มตัวกลิ้งลงกับพื้น ถ้าวันนั้นฝนไม่ตกผมคงได้ตัดขาแน่เลย ยังดีที่เป็นแค่ผิวหนังภายนอกเละเฉยๆ

Comments are closed.