ระหว่างคำว่า คิดได้ไง กับ คิดโง่ๆ

สมมุติว่าคุณขับรถเร็วด้วยความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไล่ตามรถไฟที่แล่นด้วยความเร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คุณจะมองเห็นรถไฟนั้นเคลื่อนเร็วกว่าคุณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

สมมุติว่าคุณเร่งเครื่องรถให้เร็วขึ้นเป็น 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่าความเร็วของรถไฟ คุณจะมองเห็นคนในรถไฟชัดเหมือนอยู่กับที่

ตามหลักสามัญสำนึกบอกว่า คุณสามารถหักลบความเร็วของวัตถุสองสิ่งออกจากกันได้

ความ เร็วที่สูงที่สุดในจักรวาล (เท่าที่มนุษย์พิสูจน์ได้) คือความเร็วของแสง คือ 300,000 กิโลเมตรต่อวินาที นั่นคือ เมื่อคุณกดปุ่มเปิดไฟฉาย เพียงหนึ่งวินาที แสงไฟนั้นก็ไปไกลถึง 300,000 กิโลเมตรแล้ว

เอาละ สมมุติว่าคุณสามารถประดิษฐ์ยานที่แล่นด้วยความเร็ว 299,980 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งช้ากว่าความเร็วของแสง 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คุณจะพบว่า แสงนั้นยังคงเคลื่อนที่ไปด้วยความเร็วปกติของมัน คุณไม่มีทางตามมันทันได้

แต่… โอ! โน! อิมพอสสิเบิ้ล! เป็นไปไม่ได้! เอาอะไรมาพูด! นี่ฝืนหลักสามัญสำนึกเห็นๆ!

แน่ นอน มันฝืนหลักสามัญสำนึก แต่เป็นสิ่งที่ไอน์สไตน์ พิสูจน์มาแล้วด้วยหลัก สัมพัทธภาพพิเศษ ของเขา ซึ่งเปลี่ยนโฉมหน้าความเข้าใจเรื่องฟิสิกส์ของมนุษย์อย่างหน้ามือเป็นหลัง มือ

คำอธิบายของปรากฏการณ์นี้คือ เมื่อคุณเคลื่อนที่ไปด้วยความเร็วขนาดนั้น เวลาของคุณก็จะหดสั้นลง เพราะความเร็วสัมพัทธ์กับเวลา และจักรวาลไม่ได้มีเพียงสามมิติอย่างที่เรา ‘มองเห็น’

ผ่านการพิสูจน์มานานหลายปี ประโยค “โอ! โน! อิมพอสสิเบิ้ล!” ก็ค่อยๆ จางหายไป และถูกทดแทนด้วยประโยค ‘คิดได้ไง’

ยู คลิด ปรมาจารย์ด้านคณิตศาสตร์แห่งกรีกพิสูจน์ให้ชาวโลกเห็นมาเมื่อสองพันกว่าปีมา แล้วว่า มุมภายในของสามเหลี่ยมรวมกันได้เท่ากับ 180 องศา และเส้นขนานสองเส้นไม่มีวันบรรจบกันอย่างเด็ดขาด มันกลายเป็นกฎทางเรขาคณิตและหลักสามัญสำนึกที่ใครๆ ก็เห็นชัดๆ

จนถึง ศตวรรษที่ 19 นักคณิตศาสตร์ชาวเยอรมันนาม ไรแมนน์ ที่ศึกษามิติโค้งทางฟิสิกส์พบว่า มุมภายในของสามเหลี่ยมรวมกันได้มากกว่าหรือน้อยกว่า 180 องศาก็ได้ และเส้นขนานก็ตัดกันได้ หากสามเหลี่ยมและเส้นขนานนั้นวางบนระนาบโค้ง นั่นคือมุมภายในของสามเหลี่ยมรวมกันได้มากกว่า 180 องศาบนระนาบโค้งนูน และน้อยกว่า 180 องศาบนระนาบโค้งเว้า

เมื่อครั้งที่ กาลิเลโอ กลาลิเลอี บอกคนทั่วไปว่า ลูกเหล็กสองลูกที่มีมวลไม่เท่ากันจะตกถึงพื้นพร้อมกัน ทุกคนหัวเราะเยาะเขา บอกว่า ‘เป็นความคิดที่โง่เง่าอะไรเช่นนั้น’ เพราะมันฝืนหลักสามัญสำนึกอย่างเห็นได้ชัด

ทว่าไม่มีอะไรหลอกตาเราเท่ากับสามัญสำนึกของมนุษย์

สามัญ สำนึกของคนเราเกิดขึ้นเมื่อเราพบเห็นปรากฏการณ์ที่มองเห็นด้วยสายตาจนเกิด ความเคยชิน หรือเราค้นพบความรู้บางอย่างและพิสูจน์จนมันกลายเป็นกฎ เมื่อนั้นก็ไม่มีใครกล้าท้าทายกฎเหล่านั้น

ยิ่งยึดมั่นถือมั่นกับกฎเหล่านั้นเท่าไร ก็จะไม่กล้ามองมุมต่าง และไม่มีวันสลัดหลุดออกจากกรอบความคิดเดิมนั้น

มนุษย์ เกิดมาในโลกสามมิติ กว้าง x ยาว x สูง เราเคยชินกับสภาวะนี้จนเราไม่กล้าคิดอะไรที่แตกต่างออกไป เช่น เป็นไปได้ไหมที่เราอยู่ในโลกที่มีมิติมากกว่า 3 เพียงแต่เรามองไม่เห็นมิติอื่นที่เหนือกว่านั้น? เป็นไปได้ไหมที่สิ่งมีชีวิตบนโลกเราหายใจด้วยก๊าซชนิดอื่นที่ไม่ใช่ ออกซิเจน?

ในโลกของการสร้างสรรค์ ไม่ว่าในทางศิลปะหรือวิทยาศาสตร์ คุณจะไม่มีทางค้นพบสิ่งใหม่ๆ หากไม่กล้าละวาง กฎ กติกา และสามัญสำนึกลงเสียก่อน นวัตกรรมทั้งหลายในโลกล้วนเกิดจากการมองมุมต่างทั้งสิ้น

เสียง หัวเราะเยาะกับคำว่า “คิดโง่ๆ” และ “เป็นไปไม่ได้” ปิดกั้นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ มามากต่อมากแล้ว ‘สามัญสำนึก’ ก็ฆ่าความคิดสร้างสรรค์มาทุกยุคทุกสมัย

แต่หากอยากก้าวไปสู่มรรคาใหม่ ก็ต้องรู้จักคิดต่าง และกล้าคิดต่าง

‘คิดได้ไง’ เกิดขึ้นได้เสมอเมื่อคุณกล้า ‘คิดโง่ๆ’

วินทร์ เลียววาริณ
www.winbookclub.com
4 สิงหาคม 2550

คมคำคนคม

Common sense is the collection of prejudices acquired by age eighteen.

สามัญสำนึกคือผลรวมของอคติแบบเด็กๆ

Albert Einstein
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

2 Comments

  1. ตอนแรกผมอ่านไปครึ่งนึง
    มาแนวหลักวิทยาศาสตร์ ผมก็งงๆ อยู่

    พอจบปั๊ป โอ้โห อึ้งเลย

    ชอบมากๆๆ ครับ

    รอติดตามบทความดีดีอีกนะครับ

    (ดุ๊ก เรื่องจริงผ่านจอ)

  2. ravery

    อึ่งจิงๆครับพี่
    ความคิดคนเราไม่มีคำว่าสิ้นสุด จะสิ้นสุดก็ต่อเมื่อเลิกคิด
    ชอบครับบทความนี้
    (เพื่อนคนข้างบน ส่งให้ผมอ่าน )

Comments are closed.